ที่มา  และความหมาย
ของพระพุทธรูป ปางเปิดโลก
image
image

ที่มาของพระพุทธรูปปางเปิดโลก

         พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวา-ซ้ายปกติ เหมือนปางประทับยืน แต่แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองหันออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาเปิด ที่ทำเป็นแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นก็มี 

         หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในวันอาสาฬหบูชา ณ นครสาวัตถี แล้วได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของท้าวสักกะเทวราช เพื่อแสดงธรรมโปรดพระมารดาที่ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา (พระอภิธรรม) แก่พระมารดา ในที่สุดแห่งเทศนา พระมารดาทรงบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน ครั้นเวลาจวนใกล้จะออกพรรษาเข้าแล้ว ประชาชนทั้งหลายที่ตั้งตาคอยจะเฝ้าพระบรมศาสดา จึงเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะเรียนถามว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงจากสวรรค์เมื่อใดและจะเสด็จลงที่ใหน เพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้พากันไปเฝ้าพระองค์ ณ ที่นั้น พระมหาโมคคัลลานะเถระตอบว่า จะต้องขึ้นไปเฝ้าทูลถามพระบรมศาสดาดูก่อน ได้ความอย่างไรจากพระองค์แล้วจึงจะแจ้งให้ทราบ แล้วพระเถระก็สำแดงอานุภาพแห่งสมบัติขึ้นไปสู่ดาวดึงส์พิภพ สำแดงกายให้ปรากฏแก่มหาชนในขณะขึ้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยฤทธิ์แห่งอภิญญา

         ครั้นพระเถระเจ้าเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว ก็กราบทูลตามเรื่องที่มหาชนมีความประสงค์

         พระบรมศาสดารับสั่งว่า " โมคคัลลานะ บัดนี้ สารีบุตรพี่ชายเธออยู่ ณ ที่ใด "

         พระมหาโมคคัลลานะก็กราบทูลว่า " เวลานี้พระสารีบุตรเถระเจ้าจำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะนคร พระเจ้าข้า "

         " ถ้าเช่นนั้นตถาคต ก็จะลงที่ประตูเมืองสังกัสสะนครในวันมหาปวารณา โมคคัลลานะจงแจ้งให้มหาชนทราบตามนี้ ผู้ใดประสงค์จะเห็นตถาคต ก็จงพากันไปยังที่นั้นเถิด "

 พระมหาโมคคัลลานะรับพระพุทธบัญชาแล้ว ก็ลงมาแจ้งข้อความนั้นแก่ชนทั้งหลายผู้ต้องการทราบเรื่องนี้อยู่
         ฝ่ายมหาชนทั้งหลาย ที่ตั้งใจคอยเฝ้าพระบรมศาสดาเสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ เมื่อได้ทราบข่าวจากพระมหาโมคคัลลานเถระเจ้าก็ดีใจพร้อมกับออกเดินทางไปยังเมืองสังกัสสะนคร ประชุมกันอย่างคับคั่งตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย อันมีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน มาประชุมกันต้อนรับพระบรมศาสดาอยู่ ณ ที่นั้นอย่างพร้อมเพรียง
         ครั้นถึงวันปุรณมีแห่งอัสสยุชมาสเพ็ญเดือน ๑๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว ทรงรับสั่งแก่ท้าวสักกเทวราชว่า ตถาคตจะลงไปสู่มนุสสโลกในวันนี้ เมื่อท้าวโกสีย์ทราบพระพุทธประสงค์แล้วจึงทรงนิรมิตรบันไดทิพย์ ๓ บันได สำหรับพระพุทธดำเนินเสด็จลงสู่มนุสสโลก บันไดแก้วอยู่กลาง บันไดทองอยู่ข้างขวา บันไดเงินอยู่ข้างซ้าย เชิงบันไดทั้ง ๓ นั้น ประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพีที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะนคร ศีรษะบันไดเบื้องบนจรดยอดภูเขาสิเนรุราช บันไดแก้วนั้นเป็นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่เทพดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่พรหมทั้งหลายตามส่งเสด็จ ขณะนั้นเทพดาและพรหมทั้งหลาย ได้มาประชุมพร้อมกันบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเต็มทั่วจักรวาล
         เมื่อได้เวลาเสด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จมาประทับยืนที่ฐานศีรษะบันได ในท่ามกลางเทพ พรหม บริษัทซึ่งแวดล้อมเป็นบริวารจึงได้ทรงทำ "โลกวิวรณปาฏิหาริย์" เปิดโลก โดยพระอาการทอดพระเนตรไปในทิศต่าง ๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง รวมเป็น ๑o ทิศด้วยกัน และด้วยพระพุทธานุภาพ ในทันใดนั้น ทุกทิศทุกทางจะแลโล่งตลอดหมดไม่มีอันใดกีดกันเทวดาในสวรรค์จะมองเห็นมนุษย์ เห็นยมโลก เห็นนรก และมนุษย์ก็มองเห็นเทวดาเห็นสัตว์นรก แม้สัตว์นรกก็มองเห็นมนุษย์ตลอดเทวดาในสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดปิดบัง พระผู้มีพระภาคทรงทำปาฏิหาริย์เปิดโลก พร้อมกับเปล่งฉัพพัณณรังษีพระรัศมี ๖ ประการ เป็นมหาอัศจรรย์ (นี้เป็นมูลเหตุอันสำคัญให้สร้างพระพุทธรูปปางเปิดโลก)
         ครั้งนั้น เทพดาในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันในจักรวาลนี้เพื่อชื่นชมพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ พร้อมกันทำสักการบูชาสมโภชพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทิพย์บุบผามาลัยเป็นอเนกประการ
         พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยบันไดแก้วมณีมัยท่ามกลางเทพดาในหมื่นจักรวาลมีท้าวสักกะเป็นต้น โดยบันไดทองสุวรรณมัยในเบื้องขวา ท้าวสหัมบดีพรหมกับหมู่พรหมเป็นอันมากลงโดยบันไดเงินหิรัญญมัยในเบื้องซ้าย ปัญจสิขรคนธรรมพ์เทพบุตร ทรงพิณมีสีดังผลมะตูมสุก ดีดขับร้องด้วยมธุรเสียงอันไพเราะมาในเบื้องหน้าพระบรมศาสดา ท้าวสันตุสิตเทวราช กับ ท้าวสุยามเทวราชทรงทิพย์จามรถวายพระบรมศาสดาทั้ง ๒ ข้าง ท้าวมหาพรหมปชาบดีทรงทิพย์เศวตรฉัตรกั้นถวายพระบรมศาสดา ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชประคองบาตรเสลมัยถวายพระบรมศาสดา เสด็จเป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ในท่ามกลางทวยเทพยดาแลพรหมทั้งหลาย พากันแวดล้อมแห่ห้อมเป็นบริวาร
         เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์โดยบันไดแก้วลงมาถึงเชิงบันได มหาชนทั้งหลายได้เห็นพระรูปพระโฉมของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นการเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ในท่ามกลางเทพยดาและพรหมเป็นอันมาก ครั้งนั้นงามจับอกจับใจอย่างที่ไม่เคยคิดเคยเห็นมาแต่ก่อน ก็พากันลิงโลดแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว แม้แต่พระสารีบุตรพุทธสาวกยังได้กล่าวคาถาสรรเสริญด้วยความยินดี ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า น เม ทิฏฺโฐ อิโต ปุพฺเพ เป็นอาทิ ความว่าข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน มาก่อนเลยว่า พระผู้มีพระภาคซึ่งงามด้วยศิริโสภาคยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งมวล มีพระสุรเสียงอันไพเราะอย่างนี้ เสด็จลงมาจากสวรรค์


             ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีผู้นิยมจัดสร้าง ‘พระพุทธรูปปางเปิดโลก’ เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกในวันปาฏิบท คือ วันแรม1 ค่ำ เดือน11 มาแต่โบราณกาล จะสังเกตได้จากการจัดสร้างพระพุทธรูปปางเปิดโลกตามวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงพระกรุเก่าที่มีการขุดค้นพบ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นปฐมเหตุแห่ง วันเทโวโรหนะ หรือ วันตักบาตรเทโวโรหนะอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกด้วย



กลับหน้าหลัก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้